อัมพร ด้วงปาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

อัมพร ด้วงปาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

คุณอัมพร ด้วงปาน เป็นผู้นำชุมชนอาวุโสที่ทำงานพัฒนามายาวนาน ได้เรียกแทนตัวเอง และคนทั่วไปได้รู้จักในฐานะ “ลุงอัมพร” ได้ริเริ่มกลุ่มออมทรัพย์ตำบลคลองเปียะมาตั้งแต่ปี 2523 อาศัยแนวคิดการเรื่องกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของกรมพัฒนาชุมชนเอง โดยมีเหตุจากสมัยก่อนชาวคลองเปี้ยะเป็นหนี้สินกันมากทั้งหนี้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) และหนี้นายทุนเงินกู้นอกระบบ ซึ่งบางที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึงร้อยละ ๒๐ ต่อเดือน และด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง จึงทำให้การหมุนเวียนเงินทุนไม่ทันเท่าเงินกู้ ทำให้เกิดหนี้สินล้นพ้นความสามารถในการจัดการกันเองได้
               ลุงอัมพร เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2486 เป็นคนพื้นที่ตำบลคลองเปียะ อ.จะนะ มาตั้งแต่กำเนิดเรียนหนังสือในระบบ จบชั้นประถมศึกษาที่ 4 แต่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ทดลองทำ พูดกระตุ้นให้คนอื่นได้เข้าใจสิ่งที่มีคุณค่ามาตลอด ช่วงอายุการทำงานอาชีพประจำก่อนเกษียณตัวเอง ได้ทำหน้าที่เป็นภารโรง ประจำโรงเรียนประถม และได้ทำสวนยางพารา สวนสมรมที่เรียกว่า       “สวนอัมพร” มีต้นไม้หลายๆ อย่างควบคู่กันไป

               ลุงอัมพร ได้เริ่มการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2523 จากการรวมตัวกันของคนในคลองเปี้ยะ มีจุดร่วมที่เห็นพ้องก็เพื่อแก้ปัญหาเรื่องทุนและหนี้สิน มีระบบการเรียนรู้ร่วมกันในการจัดการทรัพยากรที่มี ทั้งคน ภูมิปัญญา และทรัพยากรธรรมชาติ โดยลุงนายอัมพรเป็นประธานและผู้รับผิดชอบดูแลกิจกรรมชุมชนนี้  ซึ่งคำว่า  ดูแล  หมายถึง การจัดเก็บบัญชี  การจัดเก็บเงินสัจจะ  พิจารณาเงินกู้  การชำระเงินกู้  และพิจารณาสวัสดิการต่างๆ ให้แก่สมาชิก  ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านอาจมีการจัดตั้งคณะกรรมการประจำหมู่บ้านเพิ่มขึ้นมาทำงานร่วมกับกลุ่ม

               ระยะแรกเริ่มก่อตั้งมีสมาชิกทั้งสิ้น  ๕๑  คน  ซึ่งมาจาก  ๗  หมู่บ้านในตำบลคลองเปี้ยะ  มีเงินออมสัจจะ( เงินออมรายเดือนๆ ละเท่าๆ กัน )  เริ่มแรกที่  ๒,๘๕๐  บาท  ตกประมาณคนละ๕๐–๑๐๐ บาท  โดยทางกลุ่มจะนำเงินไปฝากธนาคาร  และถ้าสมาชิกมีความประสงค์จะกู้เงิน  ให้ไปกู้เงินจากธนาคารโดยจะมีกองทุนค้ำประกันให้  ทำให้สิ้นปี พ.ศ. ๒๕๒๓  ทางกลุ่มได้แบ่งเงินปันผลให้แก่สมาชิกเพียงอัตราร้อยละ ๒  ทำให้สมาชิกลาออกไป  ๒๔  คน  เนื่องจากถ้านำไปฝากธนาคารทั่วไปจะได้ดอกเบี้ยมากกว่า

               จากบทเรียนข้างต้นกรรมการกลุ่มเล็งเห็นว่าควรปรับเปลี่ยนระบบการบริหารกองทุนเสียใหม่ มีแนวคิดเชิงรุกที่จะอาศัยกองทุนในการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดี ลดการกู้ยืมภายนอก  เน้นการพึ่งพาตนเอง  และเพื่อเป็นการขยายฐานสมาชิกให้มากขึ้นด้วย  โดยมีการนำเงินกองทุนมาให้สมาชิกกู้ไปลงทุนด้านอาชีพ  และพัฒนาคุณภาพชีวิต  จากวิธีการดังกล่าวทำให้สมาชิกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ด้วยเหตุผลที่ว่าดอกเบี้ยต่ำกว่าการไปกู้ยืมจากนายทุนเงินกู้  ถ้าเงินเหลือจากการปล่อยให้กู้  กลุ่มก็จะนำเงินกองทุนไปฝากธนาคาร ๓  ปีต่อมา( ปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ) มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น  ๓๕๕  คน  เมื่อจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น  เงินออมก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น  สามารถปล่อยเงินกู้ได้มากขึ้น  ส่งผลให้กลุ่มมีกำไรเพิ่มขึ้น  สามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิกมากขึ้นเป็นร้อยละ  ๖.๕๐  เมื่อสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๒๕  การได้เงินปันผลใกล้เคียงกับเงินปันผลเงินฝากของธนาคาร  และการมีสิทธิกู้เงินดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้จากนายทุนเงินกู้  ทำให้สมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจากคนคลองเปี้ยะเอง  และภายนอกที่สนใจ  จนถึงวันที่  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๔๑  รวมเวลา  ๑๘  ปี  มีสมาชิกรวม  ๓,๗๙๐  คน  ระดมเงินออมได้มากถึง  ๕๑  ล้านบาทเศษ  พร้อมเงินสัจจะที่เพิ่มขึ้นในปี  พ.ศ. ๒๕๔๐  ถึงเดือนละ ๑,๐๑๘,๗๐๐  บาท  สามารถจ่ายเงินปันผลแก่สมาชิกได้ถึงร้อยละ ๑๓  สำหรับเงินฝากครบปี  และร้อยละ  ๗  สำหรับเงินสัจจะ  ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ  ๑.๒  ต่อเดือน  สมาชิกสามารถกู้เงินในวงเงินออมของตน  หากจะกู้เกินวงเงินออมของตนเองต้องมีสมาชิกที่มีวงเงินออมเหลืออยู่มาค้ำประกัน  รวมทั้งระบบให้กรรมการหมู่บ้านและชุมชนเป็นผู้ค้ำประกันตลอด  ๑๘ ปีที่ผ่านมาจึงไม่มีหนี้เสีย  ซึ่งเคยมีปัญหา  ๕  ราย  แต่สามารถติดตามคืนได้ทุกราย  กองทุนออมทรัพย์คลองเปี้ยะ มีกำไรถึง  ๗  ล้านบาทเศษต่อปี  ซึ่งนอกจากนำมาปันผลและตอบแทนกรรมการแล้ว ยังสมารถนำเงินกำไรไปช่วยงานฌาปนกิจสงเคราะห์ของสมาชิก  อุดหนุนกองทุนบรรเทาสาธารณภัย  และจัดสวัสดิการช่วยรักษาพยาบาลของสมาชิกจาก  ร้อยละ ๓๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เพิ่มขึ้นปีละ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ และตั้งแต่ปี  พ.ศ. ๒๕๔๔กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาล สามารถรับภาระค่ารักษาพยาบาลได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  ในลักษณะกองทุน  โดยการนำเงินดอกผลมาใช้ซึ่งไม่ใช่เงินต้น  โดยใช้ดอกผลไปรวมกับเงินอุดหนุนที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนออมทรัพย์ในแต่ละปี  ซึ่งจะจ่ายเฉพาะใบเสร็จหรือสำเนาใบเสร็จจากโรงพยาบาลของรัฐ  แต่มีข้อกำหนดว่าจะจ่ายเฉพาะผู้ที่มีเงินออมตั้งแต่  ๑๐  เดือนขึ้นไป 

               ลุงอัมพร มีลักษณะเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ  ที่มีความสามารถ และมีความตั้งใจจริงในการทำงานเพื่อชุมชน แรกเริ่มเดิมทีกลุ่มออมทรัพย์ฯ ถูกปรามาสและโดนโจมตีจากนายทุนเงินกู้ท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสในการทำงาน และผู้ใหญ่บางท่านถึงกับกล่าวว่า  มีความรู้เท่าใดนักหรือ แล้วจะบริหารรอดหรือเปล่า ลุงอัมพรและเหล่ากรรมการกองทุนออมทรัพย์ฯ  ได้แก้ปัญหาด้วยความโปร่งใส  ตรวจสอบได้ มีการรับผิดชอบในทุกขั้นตอน  มีการนำสมาชิกและกรรมการเข้ามาร่วมคิดร่วมทำ ในการตัดสินใจใดๆ ก็ตามจะมีผู้รับผิดชอบรวมรับรู้โดยตลอด

              ด้วยระบบการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้จากภาคปฏิบัติ ลองผิดลองถูกและระบบการเสริมสร้างการบริหารจัดการให้เกิดความรับผิดชอบ ภายใต้การถ่ายทอดประสบการณ์ที่ทำไปพร้อมกัน ทำให้เกิดกระบวนการคัดเลือกผู้นำธรรมชาติที่สมาชิกยอมรับในความซื่อสัตย์  สามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้  มีความกล้าคิด  กล้ารับผิดชอบ  ตลอดทั้งขยันชี้แจง  มีความสามารถในการรับผิดชอบชดใช้เงินในส่วนที่    ขาดตกบกพร่อง

               อาจจะกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของกองทุนออมทรัพย์ฯ นั้นเกิดขึ้นจากการมีผู้นำที่มีความสามารถในการสื่อสารขยันชี้แจงเหตุผล  กล้าที่จะติดตามทวงหนี้หรือปรับผู้ที่ส่งเงินไม่ตรงต่อเวลา  เป็นผู้บังคับติดตามผลให้เป็นไปตามกติกาในการอยู่ร่วมกัน  การขยันชี้แจง  ประชาสัมพันธ์  บอกกล่าว  สืบเนื่องมาจากการที่ผู้นำ  กล้าคิด  และทำโดยรับผิดชอบ  เป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติงาน  เพราะด้วยเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญสำหรับมนุษย์

ผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องเงินใครๆ ก็อยากได้มา  ความซื่อสัตย์สุจริตและไม่เห็นแก่ตัวก็เป็นส่วนเสริมบารมีของผู้นำให้น่าศรัทธา  สมกับความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นที่ยอมรับของสมาชิก

               อย่างไรก็ดี  ผู้นำที่ประพฤติดีนั้น  ยังไม่พียงพอที่จะสร้างความก้าวหน้าให้แก่องค์กรได้เท่าที่ควร  การที่มีผู้นำเป็นผู้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา  ทำให้เข้าใจในกระบวนการตลอดทั้ง  วิเคราะห์ข้อมูล  หาปัญหาที่ต้นเหตุ  วิเคราะห์ปัญหาและเสนอหนทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องนั้น  จะส่งเสริมให้องค์การก้าวหน้าขึ้นได้ทุกทิศทาง

"แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกระบวนการไม่ยึดติด เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีหลายระดับ

หลายกลุ่มคน พอเพียงพอเหมาะพอสมตามอัตภาพ ในอดีตเรายึดปัจจัยสี่ ปัจจุบันปัจจัยสี่ไม่เพียงพอ

กระบวนการออมทรัพย์ จึงเป็นกระบวนการพัฒนาคนเพื่อให้คนหันมาพึ่งพิงกัน

การส่งเสริมการออมเป็นหัวใจกองทุน แต่ยังมีความแตกต่างในหลายระดับจึงมีความพอเพียงต่างระดับ

ไม่ว่าจะพอเพียงในระดับในสิ่งที่เราได้มาต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่ควรมาจากสิ่งไม่ดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

และท้ายที่สุดไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย การนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ต้องสร้างสูตรคิด ให้กับคน

ให้คนเข้าใจในความพอเพียง สอนคนให้รู้เท่าทัน ให้เกิดความรักสามัคคี

ต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนที่แตกต่างกัน ไม่ทำอะไรฝืนธรรมชาติ แต่ต้องไม่ปล่อยไปตามกระแส

สุดท้ายคือ ต้องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"

แหล่งที่มาข้อมูล           
หนังสือ ชีวิต ประสบการณ์ และข้อคิดของผู้นำในขบวนการพัฒนาองค์กรชุมชน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน www.pattanathai.nesdb.go.th