ปราชญ์ชาวบ้าน - ครูมุกดา

ปราชญ์ชาวบ้าน - ครูมุกดา

        นางมุกดา อินต๊ะสาร หรือที่รู้จักกันดีในนาม“ครูมุกดา” ครูสอนนักเรียนมัธยมศึกษาโรงเรียนบ้านปิน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ครูที่ก้าวพ้นจากกรอบระบบราชการ ทำงานร่วมกับชุมชน และสังคม แก้ปัญหาเด็กที่ถูก “ตกเขียว” เข้าสู่อาชีพขายบริการทางเพศ ครูมุกดา ทุ่มเทให้กับการช่วยเหลือบ้านของตน เป็นที่พักพิงให้กับเด็กๆ ที่ได้รับความเดือนร้อน และด้อยโอกาส และงานที่สำคัญอีกด้านหนึ่งก็คือ การทำงานเชิงความคิดแบบมีส่วนร่วมกับชาวบ้านในชุมชน ในการแก้ไขปัญหาความยากจน หนี้สิน และวิถีชีวิตแบบคนเมืองในชุมชน จนสามารถก่อตั้งเป็น “ศูนย์รวมน้ำใจธนาคารหมู่บ้าน” ใน 4 ตำบล ของ อำเภอดอกคำใต้

          เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะสังคมศาสตร์  จากมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณปี 2525 ครูมุกดา เริ่มทำงานพัฒนาร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิต จนกระทั่งเมื่อปี 2529 ได้ร่วมกับชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มออมข้าวขึ้น และส่งเสริมการรวมกลุ่มเยาวชนสตรีฝึกปัก/เย็บผ้า  โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฟื้นฟูชนบท ในช่วงนั้นได้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงาน ระหว่างแกนนำชาวบ้านในชุมชนกันมาโดยตลอด จนปี 2531ได้ร่วมกันสร้างศาลาการประชุมในบริเวณใกล้ๆ กัน โดยให้เด็กได้ช่วยเหลือตนเองและส่งให้เรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านถ้ำปินวิทยาคม ครูมุกดา  เล่าให้ฟังว่า “ได้ใช้ที่ดินของตัวเอง 20 ไร่ ให้ชาวบ้านมาใช้เป็นที่สาธารณะเป็นแหล่งพูดคุยกันเกือบ 20 ปี เป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกัน  พื้นที่ด้านหลังเป็นที่อยู่ของเด็กที่ขาดโอกาส เด็กกำพร้า บางคนติดเชื้ออยู่ในชุมชนไม่ได้ บางคนพ่อแม่มีปัญหา ก็ให้มาอยู่ที่บ้านสอนให้เด็กรู้จักการพึ่งตนเอง แต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น ล้างจาน ให้อาหารสัตว์ กวาดบ้าน ถูบ้าน เด็กเหล่านี้จะได้ฝึกดนตรีพื้นบ้านทางเหนือ เพิ่มสมาธิให้กับเด็ก มีเด็กผ่านบ้านอุปถัมภ์หลายร้อยคน ดีที่สุด ต้องไม่มีเด็กมาอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือ ให้เขาอยู่ในชุมชนได้” ในปี พ.ศ.2535 จากการพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่ม และการศึกษาดูงานในพื้นที่ต่าง ๆ ครูมุกดา และชาวบ้าน ได้ช่วยกันก่อตั้งกลุ่มธนาคารหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือด้านกองทุนและส่งเสริมอาชีพ นำดอกผลมาจัดสวัสดิการในด้านต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาลการศึกษาบุตรหลานในชุมชน

          ครูมุกดาเล่าให้ฟังอีกว่า “คณะแม่บ้านกลุ่มกระดาษสาไปสัมมนาเกี่ยวกับ ทำนบกั้นเงิน” หรือ “ธนาคารหมู่บ้าน” ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อกลับมากลุ่มแม่บ้านเองก็เห็นร่วมกันว่า รูปแบบของธนาคารหมู่บ้านจะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินในชุมชน ซึ่งกู้เงินมาดอกเบี้ยร้อยละ 10-20 จนในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 จึงตั้งธนาคารหมู่บ้านแห่งแรกขึ้น ที่บ้านงิ้วหงก หมู่ 2 ตำบลบ้านปิน เมื่อเก็บออมได้ครบปี มีการปันผล ทำให้หมู่บ้านใกล้เคียงสนใจ จึงเรียนรู้ร่วมกัน ขยายในพื้นที่ 37 หมู่บ้าน 4 ตำบล คือ ตำบลบ้านปิน ตำบลหนองหล่ม ตำบลถ้ำ ตำบลคือเวียง พัฒนามาเป็นศูนย์รวมน้ำใจธนาคารหมู่บ้าน ในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาการทำงานเพื่อสังคม และชุมชนท้องถิ่นเรื่อยมานั้น ครูมุกดาทำงานด้วยใจ และรอยยิ้มเสมอมา  แม่พิมพ์...หญิงแกร่ง  ใจสู้  ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคปัญหาจึงเป็นที่ยอมรับ และได้รับการชื่นชมจากผู้คนมากมายหลากหลายสาขา จนได้รับรางวัลจากสหประชาชาติ กระนั้นครู ก็ยังทำงานที่มีคุณค่า ในการช่วยเหลือเด็กๆ และชุมชนเรื่อยมา “ ใจสำคัญที่สุด อดทน อดกลั้น หลักธรรมทางพระพุทธศาสนานำมาใช้ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะหลักธรรม 3 อย่าง สัจจธรรม มีทุกข์ต้องมีทางออก ทางออกนั้นถ้าเราแก้ตรงเหตุไม่ได้  ไม่มีทางจะดับทุกข์ได้ อริยสัจ 4 ทุกปัญหาต้องแก้ที่ทุกข์ความแตกต่างของคนไม่มีใครเหมือนกันทั้งหมด ในสังคมมีดำ ขาว เทา แต่ไม่ว่าจะดำ ขาว ต้องมีจุดดีแน่นอน ขอเพียงเรามองจุดดีของกันและกัน จะสามารถนำสิ่งนั้นมาเรียนรู้ร่วมกันได้ ถ้าเจออะไรหนักๆ เราก็ถอยมา แล้วค่อยกลับไปสู้ใหม่” แหล่งที่มาข้อมูล : หนังสือ ชีวิต ประสบการณ์ และข้อคิดของผู้นำในขบวนการพัฒนาองค์กรชุมชนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน)