แจ้งเรื่องร้องเรียนการทุจริต

"กองทุนหมู่บ้าน" ไม่ใช่เงิน !

"กองทุนหมู่บ้าน" เป็นอะไรที่ใหญ่โต และมีคุณค่ายิ่งกว่าเงินมากนัก

กองทุนนี้ประกอบด้วย ทุนที่เป็นคนแต่ละคน ทุนทางสังคมที่ถักทอคนแต่ละคนมาเป็นกลุ่มคนหรือสังคม ทุนทางวัฒนธรรม คือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มคนที่ประสานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ทุนทางศีลธรรม หมายถึงความถูกต้องแห่งการอยู่ร่วมกัน เช่น ความเอื้ออาทรต่อกัน ความเชื่อถือและไว้วางใจกันได้ ความสุจริต ความเสียสละ ทุนทางทรัพยากร เช่น ดิน น้ำ ป่า อากาศ ไร่นา วัวควาย ที่มีการอนุรักษ์ มีการใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ทุนทางปัญญา ได้แก่การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติและนำเอาความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน และความรู้จากภายนอกชุมชน มาสังเคราะห์เป็นปัญญาและการจัดการเพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และระหว่างชุมชนกับโลกภายนอกชุมชน เป็นไปอย่างรักษาความสมดุลไว้ได้ เพื่อความเป็นปรกติและยั่งยืน ทุนที่เป็นเงิน อันช่วยกันออมไว้เพื่อให้กระบวนการออมและการจัดการรวมทั้งตัวเงิน เป็นเครื่องกระตุ้นและส่งเสริมสร้างทุนที่ไม่ใช่เงิน ๖ ประการ

ทุนที่ไม่ใช่เงิน คือ คน สังคม วัฒนธรรม ศีลธรรม ทรัพยากร และ ปัญญา ถูกถักทอเข้าด้วยกัน "คุณค่าที่ไม่ใช่เงิน" (nonmonetary values) คือความใกล้ชิด ความเอื้ออาทรต่อกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสุจริต ความเสียสละ คุณค่าที่ไม่ใช่เงินนี้มีพลังผูกพันเข้าไว้ด้วยกัน คุณค่านี้อาจเรียกว่าเป็น "ธรรมะแห่งการถักทอ"

ชุมชนจะก่อตัวขึ้นมาเองด้วย "ธรรมะแห่งการถักทอ" งอกงามและเติบโตไปโดยธรรมชาติ เป็นองค์กรโดยธรรม องค์กรโดยธรรมทำให้ทุกคนมีความสุขและสร้างสรรค์อย่างยิ่ง ตรงกันข้ามกับองค์กรโดยอำนาจที่ใช้กันโดยทั่วไปไม่ว่าในทางการเมือง ราชการ การศึกษา ศาสนา หรือธุรกิจ ซึ่งบีบคั้น ไม่สร้างสรรค์ และก่อให้เกิดความเครียด

อำนาจและเงินที่เข้าทำลาย "คุณค่าที่ไม่ใช่เงิน" และทำลายความเข้มแข็งของชุมชน หรือทำให้ความเป็นชุมชนไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเข้าใจใช้เงินให้ไปหนุนคุณค่าที่ไม่ใช่เงินเงินก็มีประโยชน์ในการส่งเสริมความเข้มแข็ง ของชุมชนได้

ผู้ที่เข้าไปทำงานชุมชนจะมีแต่เจตนาดีอย่างเดียวไม่ได้ทั่วโลกประสบความล้มเหลวในการแก้ไขความยากจนของคนชนบทเพราะอาศัยแต่เจตนาดีและเงินมหาศาลความเข้าใจธรรมชาติของการก่อตัวเองของชุมชนเข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญถ้าช่วยกันทำความเข้าใจก็จะเกิดอานิสงฆ์ มหาศาล ที่ทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากสภาวะวิกฤต

ประเวศ วะสี
24 มิถุนายน 2544


กว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

นับจาก พ.ศ. 2504 ประเทศไทยได้กำหนดให้มีแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และ สังคมในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-7 ที่ผ่านมาเกิดจากการนำทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และความได้เปรียบด้านแรงงานที่มีราคาถูกและมีอยู่อย่างเหลือเฟือ ของประเทศมาใช้สนับสนุนการพัฒนาและขยายฐานการผลิตทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวในอัตราที่สูง แต่การเติบโตดังกล่าวนอกจากจะต้องแลกเปลี่ยนด้วยทรัพยากร ธรรมชาติที่ร่อยหลอ และเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมากและต้องมีการลงทุน เทคโนโลยีและการตลาดจากต่างประเทศ ในขณะที่ข้อจำกัดที่เป็นอยู่ของประเทศทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพของคน การบริหารจัดการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเสริมสร้างฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพและประสิทธิภาพโดยรวม ของการพัฒนาประเทศอันจะนำไปสู่ขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ส่วนปัญหาที่เกิดตามมา คือ ความขัดแย้งในสังคมจากการ เลื่อมล้ำของรายได้และการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่ เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้นมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาจะกระจุกอยู่เฉพาะพื้นที่ในเขตเมือง และชุมชนด้านอุตสาหกรรม ไม่เกิดการกระจายการพัฒนาสู่ชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เกิดการอพยพปัจจัยการผลิตของชุมชนโดยเฉพาะแรงงาน ซึ่งส่งผลถึงการแยกคนออกจากชุมชน ทำให้สรุปได้ว่าแม้การพัฒนาเศรษฐกิจจะบรรลุผลตาม ความมุ่งหมาย แต่ความสำเร็จดังกล่าวได้นำไปสู่ผลการพัฒนา ที่ไม่พึงปรารถนาทางด้านสังคม และการพัฒนานั้นอาจจะไม่ยั่งยืน เพราะคนในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากกระบวนการพัฒนาที่ต่อเนื่องกันมายาวนาน

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ และความต่อเนื่องของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ จึงได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การพัฒนาใหม่ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคน ทั้งในฐานะ ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนา และเป็นผู้ได้รับประโยชน์ หรือผลกระทบโดยตรงจาก การพัฒนาจึงมุ่งเน้นการพัฒนาแบบองค์รวมที่มี "คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา" และมีกระบวนการที่บูรณาการทุกด้านในการเชื่อมโยงกัน ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ให้มีความสามารถหรือประสิทธิภาพต่อการสร้างความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนและความ อยู่ดีมีสุขของคนไทยและสังคมไทย

จากกระบวนทัศน์ใหม่ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ และความต่อเนื่องของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ กับปรัญญาของนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในการเสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น โดยชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคต และจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง และเกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้านและชุมชน เสริมสร้างการเชื่อมโยงกระบวนการเรียนร ู้ร่วมกันระหว่างชุมชน ราชการ เอกชน และประชาสังคม รวมถึงการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน และวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน ๑ ล้านบาท เป็นแหล่ง เงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้หรือ เพิ่มรายได้ การลดรายจ่าย การบรรเทาเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนและสำหรับการนำไปสู่การสร้างกองทุน สวัสดิการที่ดีแก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบการบริหารจัดการเงินทุนของตนเอง เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม เพื่อการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านและชุมชนเมือง กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต และเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง สำหรับในแผนพัฒนาฯฉบับบที่ 10 เป็นการมุ่งเสริมให้สังคมไทยอยู่เย็นเป็นสุข ด้วยวิธีปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนที่เข้มแข็งจึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนา โดยที่ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาจะช่วยสนับสนุน ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถจัดกิจกรรมที่เป็นองค์ความรวม มีกระบวนการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ร่วมกันของคนในชุมชนในรูปแบบที่หลากหลายตามภูมิสังคมด้วยทุนทางทรัพยากร และศักยภาพของชุมชน มีการผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองอย่างพอเพียง พึ่งพาตนเองได้ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทั้งภายในและภายนอกชุมชน บนพื้นฐานการเคารพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยสรุปได้เป็น 3 แนวทางหลัก

  1. การบริหารจัดการกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง
  2. การสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจชุมชน
  3. การเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการอยู่ร่วมกันกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสันติและเกื้อกูลกัน

วัตถุประสงค์กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

  1. เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการลงทุน
    • พัฒนาอาชีพ สร้างงาน
    • สร้างรายได้ หรือ เพิ่มรายได้
    • ลดรายจ่าย
    • บรรเทาเหตุฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วน
  2. ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถ
    • จัดระบบเงินกองทุน
    • บริหารจัดการเงินกองทุน้
  3. เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตัวเองของหมู่บ้านและชุมชนเมือง
    • การเรียนรู้
    • การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม
    • เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง
  4. กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก
    • เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
  5. เกิดศักยภาพ / ความเข้มแข็งของประชาชนในหมู่บ้าน / ชุมชนเมือง
    • เศรษฐกิจ
    • สังคม
       

ปรัชญาของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

  1. เสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น
  2. ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคต และจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง
  3. เกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้านและชุมชน
  4. เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน ราชการ เอกชนและประชาสังคม
  5. กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน

ติดต่อเรา

ที่ตั้งสำนักงานส่วนกลาง

200 หมู่ 4 อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ ชั้น 24 ถ.แจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 (National Village and Urban Community fund Office , 200, moo 4 , Jasmine International Tower , 24 th Floor, Chaengwatana Road , Pakkred District , Pakkred Sub-district , Nonthaburi 11120 , Thailand.)

© 2024 สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.)